ความสำคัญของ ESG ต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการ (ESG)

แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการ (ESG) กำลังกลายเป็นใจความสำคัญของตลาดทุนสำหรับการเพิ่มคุณค่าตลาดโดยคำนึงถึงคุณค่าสำหรับคนรุ่นหลังเป็นสำคัญ โดยครอบคลุมหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิทธิมนุษยชน ลูกค้าสัมพันธ์ ห่วงโซ่อุปทาน หลักปฏิบัติของคณะกรรมการบริหาร ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้านต่างๆ เช่นภาษี หรือ สวัสดิภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นต้น อีกทั้งความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกิจการที่มีความยั่งยืนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวบนพื้นฐานแนวคิดที่มองว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่การทำบุญหรือการทำการกุศลอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน (Courtnell, J., 2022) นิตยสารสัญชาติอังกฤษอย่าง The Fintech Times ระบุว่าการรายงาน ESG เป็นการเปิดเผยข้อมูลและอธิบายถึงผลกระทบและการเพิ่มคุณค่าขององค์กรโดยการสรุปกิจกรรมต่างๆขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย ความสำเร็จและผลกระทบเสนอต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนอย่างโปร่งใส โดยข้อมูลระบุอีกว่าอัตราสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 27,000 ล้านยูโร ในปี 2560 เป็น 102,000 ล้านยูโรในปี 2562 แสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจในยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารองค์กรด้วยกลยุทธ์ความยั่งยืนและผลกระทบขององค์กรผ่านรายงาน ESG และใช้รายงานเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันในการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจด้วยความสมัครใจถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อบังคับที่เป็นรูปธรรมก็ตาม (The Fintech Times, 2022) ทว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปองค์กรต่างๆจะเริ่มถูกบีบให้รายงานความยั่งยืน โดยความเข้มข้นของข้อบังคับขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2566 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เสนอแผนการจัดทำกฎหมายใหม่ของ EU ที่กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่ทั้งหลายเผยแพร่รายงานการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ช่วยให้นักลงทุน ผู้บริโภค ผู้วางเงื่อนไข และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ได้ประเมินผลประกอบการที่ไม่เกี่ยวกับการเงินพร้อมกับส่งเสริมแนวทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นเรียกว่า Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) (Bureau Veritas, 2023) ซึ่งจะมาแทนกฏหมายเก่าอย่าง Non-Financial Reporting Directive (NFRD) ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปถึง 50,000 บริษัท ทั้งบริษัทจดทะเบียน (Listed Company) และกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (Public-Interest Entities) ที่ต้องยื่นรายงานความยั่งยืนในรอบปี 2566 นี้ ส่วนในประเทศไทยเองตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เริ่มมีการกำกับดูแลกิจการด้วยการออกระเบียบว่าด้วย “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2555” เพื่อเป็นหลักในการตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทจดทะเบียน ประกอบไปด้วย 4 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (SET, 2012) จากนั้นในปี 2559 “Checklist พิชิตธุรกิจยั่งยืน ฉบับ SME” ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือที่อธิบายถึงแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Antong, P.and Ekachaiphaiboon, S., 2016) และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็ได้ประกาศ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560” เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระยะยาว น่าเชื่อถือและสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน (CG Thailand, 2017) ประกอบด้วย 8 หลักปฏิบัติอาทิ ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืนและดูแลให้มีระบบบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสมเป็นต้น และล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำ “คู่มือการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน” ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน ฯลฯ สำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (Santhayati, N. et al., 2020) อีกทั้งในส่วนของการบริหารความเสี่ยงนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นำ COSO-ERM 2017 ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ซึ่งเป็นคณะกรรมการของสถาบันวิชาชีพ 5 สถาบัน ในสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ 1)สมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Institute of Certified Public Accountants หรือ AICPA) 2) สมาคมผู้ตรวจสอบภายใน (The Institute of Internal Auditor หรือ IIA) 3) สมาคมผู้บริหารการเงิน (The Financial Executives Institute หรือ FEI) 4) สมาคมนักบัญชีแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Accounting Association หรือ AAA) 5) สมาคมนักบัญชีเพื่อการบริหาร (Institute of Management Accountants หรือ IMA) (Kamhaengpol, T, 2016) และ WBCSD (World Business Council for Sustainable Development) มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยงในรูปของความเสี่ยง ESG (Chayaviwattanawong, C., 2018) เห็นได้ชัดว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ กลต. ได้มีความพยายามผลักดันด้านความยั่งยืนมาตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาและหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับในการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทในกำกับก็มีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับไม่ต่างจากกระแสจากทั่วโลก

ทำความเข้าใจความสำคัญของการรายงานความยั่งยืน

การทำความเข้าใจความสำคัญของการรายงานความยั่งยืนนั้นควรเริ่มจากการปรับแนวความคิดเสียใหม่ว่าการทำ ESG นั้นไม่ใช่ภาระแต่เป็นมาตรการเพื่อแสดงความโปร่งใส และความโปร่งใสนี้เองจะนำมาซึ่งเงินทุนและการสร้างสรรค์วิธีการสำหรับต่อกรกับความท้าทายระดับโลกที่เกี่ยวเนื่องกับ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)” ของสหประชาชาติอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียม หรือความมั่นคงในชีวิตเป็นต้น ความโปร่งใสยังเป็นกุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดความร่วมมือกับบุคคลภายนอกและการพัฒนาที่ทำได้จริงเนื่องจากสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนหรือผู้ให้กู้มีแนวโน้มว่าจะใช้ความโปร่งใสที่รายงานด้วยแนวคิด ESG ในการประเมินความเสี่ยง และความเป็นไปได้เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเงินในอนาคต นอกจากนั้นผู้บริโภคเองก็ต้องการสินค้าและ/หรือบริการจากแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมเช่นกัน (Courtnell, J., 2022) ข้อมูลจาก The First Insight (2023) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้บริโภคโดยเฉพาะ Gen Z (เกิดช่วงปี 2538-2552) มีความต้องการสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างจริงจังโดยมีอัตราการซื้อสินค้าและ/หรือบริการถึง 62% และพวกเขาพร้อมที่จะจ่ายเพิ่มอีก 10% สำหรับสินค้าและ/หรือบริการที่ยั่งยืนจากการจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและ/หรือบริการทั่วไป นอกเหนือจากนั้น 79% ของพนักงานกลุ่ม Millennial (เกิดช่วงปี 2524-2538) มีการประเมินถึงแนวทางการดำเนินการด้านความยั่งยืนของผู้ว่าจ้างก่อนตัดสินใจร่วมงานด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่าการส่งเสริมนโยบายด้าน ESG สามารถดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมาทำงานได้ดีกว่า (Cone, C., 2022)  ในขณะที่ MSCI (2021) ให้ข้อมูลว่าการลงทุนในธุรกิจที่แสดงออกถึงความยั่งยืนนั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในกลุ่ม Gen Z หรือ Millennial เท่านั้นแต่ยังกำลังขยายไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมหลักอาทิ นักลงทุนสถาบันและบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย ส่วนในมุมของการวางแผนประยุกต์ใช้กลยุทธ์ด้าน ESG องค์กรต่างๆจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการ (ESG Risk)ให้ชัดเจน จากนั้นจึงวัดผลตามหลักฐานการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริงอย่างโปร่งใสเป็นรายปี ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรต่างๆควรกำหนดกิจกรรมที่สร้างสรรค์และทำได้จริงเพื่อสนันสนุนการบรรลุเป้าหมาย ESG ขององค์กรเหล่านั้น (Courtnell, J., 2022) Korn Ferry ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาองค์กรในระดับสากลได้ให้ความหมาย ESG ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมากกว่าจะมาบ่ายเบี่ยง โดยที่องค์กรต้องระบุเป้าหมายให้ชัดเจนจากนั้นต้องพัฒนาทักษะ ความสามารถ ภาวะผู้นำและวัฒนธรรมไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ในส่วนการกำหนดเป้าหมายนั้นองค์กรควรเริ่มจากกำหนดนโยบายจากคณะกรรมการบริหาร (Tone of the top) โดยการให้คำมั่นสัญญาต่อเป้าหมายและปฏิบัติเป็นประจำเพื่อแสดงความเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีให้บุคลากรในองค์กร หลังจากที่ผู้นำแสดงถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงแล้วนั่นถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายวัตถุประสงค์และเป้าหมายสู่วัฒนธรรมทั่วทั้งองค์กรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ลงมือทำและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างถาวร ชุดเป้าหมายต่างๆควรเป็นที่ยอมรับและมีการวัดผลการดำเนินการทั้งในแง่กลยุทธ์และการปฏิบัติเป็นประจำไม่ว่าจะด้วยการวัดผลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ (Korn Ferry, 2023) และลึกไปกว่านั้นแต่ละองค์กรควรเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั้งจากทุกหน่วยงานในองค์กรและผู้มีส่วนไดส่วนเสียเพื่อนำมาประเมินว่าแง่มุมใดเหมาะสมกับองค์กรนั้นๆมากที่สุดเรียกว่า “กระบวนการประเมินประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ” ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ต่างๆสามารถช่วยให้การเก็บข้อมูลมากมมายเป็นไปอย่างง่ายดายและสามารถเชื่อมโยงกับข้อกำหนดต่างๆได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเลือกกรอบการรายงานที่ต้องการใช้และแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความโปร่งใสในการได้มาซึ่งข้อมูลอย่างชัดเจนและสุดท้ายสื่อสารให้ทั้งผู้ถือหุ้นและสาธารณะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายงาน ESG กับกลยุทธ์ธุรกิจ (The Fintech Times, 2022)

ประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงถึงความพยายามผลักดันแนวคิดด้านความยั่งยืนของภาคทุนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเริ่มแรกอาจดูเหมือนไม่มีทิศทางที่ชัดเจนเนื่องจากกรอบความยั่งยืนที่ทั้งกว้างและลึก อีกทั้งยังเป็นแนวความคิดที่ตรงข้ามกับแนวคิดอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ ประเด็นเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในหลากหลายแง่มุมทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์และสังคมมากว่า 20 ปี ตั้งแต่มีการประชุม “พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)” ในปี 2540 จนถึงการประชุม “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC (COP)” ในปี 2565 การพัฒนาเหล่านั้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการดำเนินชีวิตทั่วโลกในหลากหลายแง่มุมโดนเฉพาะในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ESG จะเป็นส่วนสำคัญในการกำกับดูแลกิจกรรมในการการดำเนินกิจการทั้งภาครัฐและเอกชนถึงแม้ว่าในปัจจุบันการเสนอรายงาน ESG จะยังอยู่ในรูปแบบสมัครใจก็ตาม แต่ในอนาคตอันใกล้การเสนอรายงาน ESG ภาคบังคับจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างแน่นอนดังนั้นองค์กรต่างๆ ควรเริ่มทำความคุ้นเคยกับเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการนำ ESG มาใช้ในองค์กร มีการคาดการณ์จาก Deloitte Center for Financial Services (DCFS) ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการลงทุนกว่าครึ่งในสหรัฐอเมริกาจะมีการผลักดันข้อบังคับ ESG ในสินทรัพย์ถาวรอย่างจริงจังก่อนปี 2568 เนื่องจากแรงกดดันจากผู้บริโภค และเนื่องจากเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพและภาพของการออกข้อบังคับชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีปัจจัย ESG มากขึ้นในกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนของนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีก อีกทั้งยังมีการประเมินว่าอัตราการเติบโตแบบทบต้น (CARG) จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 16% ในปี 2568 (Collins, Sean, 2020) อย่างไรก็ตามกฏหมายและข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวกับการรายงาน ESG มีแนวโน้มที่จะถูกปรับให้เหมาะสมกับกฎหมายอื่นๆที่มีอยู่เดิมและอัตราส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศมากกว่าการใช้ตัวชี้วัดอื่นๆที่จับต้องไม่ได้ อย่างเช่น การรับรู้ทางสังคมหรือความเป็นอยู่ที่ดีเป็นต้น ดังนั้นการลงทุนกับพนักงานและทรัพยากรในการติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จำเป็น ข้อเสนอแนะ กรอบการรายงาน ของแต่ละประเทศที่องค์กรนั้นๆดำเนินกิจการอยู่และดำเนินกิจการด้วยอย่างใกล้ชิดเนื่องในบางองค์กรต้องการระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากปัจจัยความซับซ้อน งบประมาณ และกระบวนการที่อาจผิดพลาด (Abigali Y., 2022)


International References:

  1. Abigali Yu (2022) The Global State of Mandatory ESG Disclosures. [online] London: Azeus Convene. Available from: https://www.azeusconvene.com/esg/articles/the-global-state-of-mandatory-esg-disclosures [Access 10 May 2023].
  2. Collin, Sean (2020) Advancing Environmental, Social, and Governance Investing: A Holistic Approach for Investment Management Firm. [online] Washington, DC: Deloitte Insights. Available from: https://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/financial-services/esg-investing-performance.html [Access 9 May 203].
  3. Cone, Coral (2022) Engaging Employees at the Intersection of Purpose and Philanthropy. [online] Massachusetts: 3BL CSR Wire. Available from: https://www.csrwire.com/press_releases/760906-engaging-employees-intersection-purpose-and-philanthropy [Access 9 May 2023].
  4. Courtnell, Jane (2022) ESG Reporting Preparation Guide: What is ESG Reporting? [online] Texas: Green Business Bureau. Available from: https://greenbusinessbureau.com/business-function/finance-accounting/esg-reporting-what-is-esg-reporting/ [Access 9 May 2023].
  5. Korn Ferry (2023) Critical ESG & Sustainability Question: Purpose. [online] New York: Korn Ferry. Available from: https://www.kornferry.com/capabilities/business-transformation/esg-and-sustainability?utm_source=google&utm_medium=ppc&utm_campaign=21-09-na-environmental-social-governance&utm_content=esg-and-sustainability&utm_term=esg%20framework&gad=1&gclid=Cj0KCQjwu-KiBhCsARIsAPztUF3E7BZ1VJujXHwc8Fcgo07oA9hMHDW9J5HB4dblQtaLDxkaU-Y82IUaAtHeEALw_wcB [Accessed on 3 May 2023].
  6. The Fintech Times (2022) Planetly: What is ESG Reporting and Why is it Vital for Business. [online] London: The Fintech Times. Available from: https://thefintechtimes.com/planetly-what-is-esg-reporting-and-why-is-it-vital-for-businesses/ [Accessed 9 May 2023].
  7. The First Insight (2023) The Stage of Consumer Spending: Gen Z Shoppers Demand Sustainable Retail. [online] Pennsylvania: The First Insight. Available from: https://www.firstinsight.com/white-papers-posts/gen-z-shoppers-demand-sustainability [Access 9 May 2023].
  8. MSCI: Morgan Stanley Capital International (2021) The Truth Behind 5 ESG Myths. [online] New York: MSCI Available from: https://www.msci.com/research-and-insights/visualizing-investment-data/fact-check-truth-behind-esg-myths [Access 9 May 2023].

Thai References:

ภาพรวมการรายงาน ESG

การรายงาน ESG ที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนอย่างสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการอย่างมีมาตรฐานนั้นเป็นตัวกำหนดความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวเนื่องจากการรายงาน ESG เผยให้เห็นข้อมูลที่สามารถประเมินได้ว่าองค์กรต่างๆบริหารจัดการประเด็นของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการในการทำงานประจำวันได้ดีเพียงใด ในรายงาน ESG เป็นการบอกถึงกลยุทธ์และการปฏิบัติอันก่อให้เกิดคุณค่าที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การรายงาน ESG จึงเป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างอิงถึงประเด็นความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ (Emerick, D., No Clue) ในปัจจุบันทีมงานบริหารในบริษัทจดทะเบียนและกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะถูกเรียกร้องจากตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานของรัฐ ให้เปิดเผยข้อมูลและนำเสนอรายงาน ESG มากขึ้นทั้งราย 6 เดือนและรายปี นอกจากนั้นรายงาน ESG ยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารองค์กรที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีข้อกังขาในการดำเนินงานขององค์กร อาทิ นักลงทุน เจ้าหนี้ พนักงาน ผู้บริโภค เป็นต้น ด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน ความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ด้วยความโปร่งใส แต่ในทางกลับกันการใช้กลยุทธ์หรือการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนหรือไม่เป็นความจริงจะถูกตัดสินว่าเป็น “การฟอกเขียว (Greenwashing)” (Peterdy, K., 2023) และการฟอกเขียวนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากที่องค์กรดำเนินการผิดพลาด ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม การก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการว่ามีความยั่งยืนทั้งที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง หรือแม้แต่ขอบเขตการปฏิบัติการที่กว้างมากเกินไป อย่างไรก็ตามการฟอกเขียวนั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งความตั้งใจเช่นการทำเพื่อการตลาด และความไม่ตั้งใจเช่นการขาดความรู้ความเข้าใจเป็นต้น (Peterdy, K., 2022) ในส่วนของการให้คะแนน ESG มีวัตถุประสงค์เพื่อการประเมินและตรวจสอบการที่องค์กรนำเงินทุนและหลักทรัพย์มาใช้ในประเด็นต่างๆภายใต้กรอบ ESG การให้คะแนน ESG สามารถทำได้ทั้งแบบ อุตสาหกรรมเฉพาะทาง (industry-specific) และ อุตสาหกรรมไม่เฉพาะทาง (industry-agnostic) โดยการให้คะแนนในอุตสาหกรรมเฉพาะทางจะมุ่งเน้นที่ตัววัสดุ บริบทแวดล้อมเกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการได้มาซึ่งวัสดุเป็นหลัก ในขณะที่อุตสาหกรรมไม่เฉพาะทางจะดูเฉพาะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมในภาพรวมเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน หรือความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกัน (DEI) (Miller, N. 2022) และ Courtnell, J. (2022) จาก Green Business Bureau (GBB) อธิบายถึงการรายงาน ESG ไว้ 2 รูปแบบคือ 1) กรอบการรายงาน ESG (ESG Framework) และ 2) มาตรฐานการรายงาน ESG (ESG Standard) โดย กรอบการรายงาน จะเป็นกรอบที่กว้างเพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับ ESG ดังนั้นกรอบการรายงาน ESG ถูกใช้เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนรายงานแต่จะไม่ได้นำเสนอวิธีการสำหรับการเขียนรายงาน การเก็บและการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง กรอบการรายงานจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ควบคู่กับมาตรฐานการรายงานหรือเมื่อไม่มีมาตรฐานการรายงานที่ดีพอ ในอีกทางหนึ่ง มาตรฐานการรายงาน จะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าโดยมีการอธิบายถึงรายละเอียดของข้อกำหนดต่างๆที่ต้องเขียนในรายงาน นั่นหมายความว่ามาตรฐานการรายงานถูกใช้เป็นแนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลและการเขียนรายงานอย่างเช่นเรื่องที่จะรายงานและขอบเขตพื้นที่สำหรับการรายงานเป็นต้น มาตรฐานการรายงานช่วยให้กรอบการรายงานเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยการที่เป็นเครื่องยืนยันสำหรับการเปรียบเทียบ ความสอคล้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆที่ถูกเขียนในรายงาน ในขณะที่ Byrne, D. (2023) จาก Corporate Governance Institute (CGI) กล่าวว่ากรอบการรายงาน ESG เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักปฏิบัติและให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามในภาพรวมเช่นโครงสร้างของข้อมูลถูกสร้างมาอย่างไรหรือข้อมูลอะไรบ้างที่ถูกรวบรวมไว้ในรายงานเป็นต้น ส่วนมาตรฐานการรายงาน ESG นั้นเกี่ยวกับการใช้วิธีการหรือเทคนิคมากกว่าโดยการตัวมาตรฐานจะกำหนดความต้องการที่เฉพาะเจาะจงอย่างเช่นตัวชี้วัดแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับการรายงานในแต่ละเรื่อง และกรอบการรายงานและมาตรฐานการรายงานควรถูกใช้ร่วมกันเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของรายงาน Letta, A. T. (2022) จาก esg.tech เพิ่มเติมว่ากรอบการรายงานนำเสนอภาพรวมของโครงสร้างและหัวข้อที่ต้องการนำเสนอ ส่วนมาตรฐานการรายงานนำเสนอในส่วนของโครงสร้างของรายงานโดยรวมตัวชี้วัดที่เฉพาะเจาะจงและรายละเอียดของแต่ละข้อกำหนดหรือเกณฑ์การประเมิน และกรอบการรายงานถูกใช้ในบางกรณีที่ไม่มีมาตรฐานที่ดีในการประเมินและ/หรือหัวข้อมีความยืดหยุ่นที่สามารถอธิบายได้โดยไม่ต้องใช้การประเมินแบบเฉพาะเจาะจง ลึกลงไปกว่านั้น Courtnell, J. (2022) ได้แบ่งกรอบการรายงาน ESG ออกเป็น 3 รูปแบบคือ 1) กรอบการรายงานแบบสมัครใจ (Voluntary Disclosure Framework) 2) กรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำ (Guidance Framework) 3) กรอบการรายงานแบบใช้ข้อมูลจากบุคคลที่สาม (Third-Party Aggregators) ภายใต้กรอบการรายงานแบบสมัครใจองค์กรเปิดเผยข้อมูลด้านนโยบาย วิธีปฏิบัติ การบรรลุผลสำเร็จและข้อมูลอื่นๆที่ส่งผลต่อความยั่งยืนตาม 25 รายการของGBB โดยกรอบการรายงานแบบสมัครใจที่นิยมใช้กันในระดับสากลมีดังนี้ 1) Carbon Disclosure Project (CDP) 2) Global Real Estate Industry Benchmark (GRESB) 3) Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ส่วนกรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำที่เป็นการเสนอแนะหลักการเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบ่งชี้ บริหารจัดการและรายงานเกี่ยวกับผลสำเร็จด้าน ESG ขององค์กร กรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำที่นิยมประกอบด้วย 1) Sustainability Accounting Standards Board (SASB) 2) Global Reporting Initiative (GRI) 3) Task Force on Climate-Related Financial Disclosure (TCFD) 4) Carbon Disclosure Standard Board (CDSB) 5) International Integrated Reporting Council (IIRC) และสุดท้ายกรอบการรายงานแบบใช้ข้อมูลจากบุคคลที่สามที่ใช้สำหรับประเมินประสิทธิภาพการดำเนินการขององค์กรจากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อสาธารณะและผู้รวบรวมข้อมูลภายนอกแหล่งต่างๆ อาทิเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลขององค์กร (company-sourced filings) เอกสารตีพิมพ์ต่างๆ เวบไซต์ รายงานประจำปี และ/หรือรายงานด้ารความยั่งยืนหรือความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) กรอบการรายงานแบบใช้ข้อมูลจากบุคคลที่สามที่ได้รับความนิยมคือ 1) Bloomberg Terminal ESG Analysis 2) Institutional Shareholder Service (ISS E&S) Quality Score (ISS) 3) Morgan Stanley Capital International (MSCI) 4) Sustainalytic. ในส่วนของมาตรฐานการรายงาน ESG นั้นปรากฏอยู่ 2 มาตรฐานคือ 1) European Financial Reporting Advisory Group (EFRAG) and 2) International Sustainability Standard Board (ISSB) ในขณะที่ Byrne, D. (2023) กล่าวถึงกรอบการรายงานเพียง 4 แบบซึ่งทั้ง 4 แบบอยู่ภายใต้กรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำตามที่ Courtnell, J. (2022) ได้กล่าวอ้างคือ 1) Task Force on Climate-Related Financial Disclosure (TCFD) 2) International Integrated Reporting Council (IIRC) 3) Global Reporting Initiative (GRI) 4) Carbon Disclosure Standard Board (CDSB) และมาตรฐานการรายงาน ESG 3 แบบคือ 1) European Financial Reporting Advisory Group (EFRAG) 2) International Sustainability Standard Board (ISSB) and 3) The sustainability Accounting Standard Board (SASB) ซึ่ง Courtnell, J. (2022) ระบุว่า SASB เป็นกรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำ อีกด้านหนึ่ง Letta, A. T. (2022) ได้กล่าวถึงตัวอย่างของกรอบการรายงานเพียงแค่ 1) Task Force on Climate-Related Financial Disclosure (TCFD) และ 2 มาตรฐานการรายงานคือ 1) Global Reporting Initiative (GRI) ที่ Courtnell, J. and Byrne, D. ระบุว่าเป็นกรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำ และ 2) Sustainability Accounting Standards Board (SASB) ที่ Courtnell, J. ระบุว่าเป็นกรอบการรายงานแบบให้คำแนะนำแต่ Byrne, D. ระบุว่าเป็นมาตรฐานการรายงานเช่นเดียวกับ Letta, A. T.

                ในประเทศไทยเองก็ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นของกระแส ESG เช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เผยแพร่แนวทางการรายงานความยั่งยืนและการประเมินในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมสำหรับบริษัทจดทะเบียนในปี 2565 โดยแนวทางสำหรับการรายงานความยั่งยืนอยู่ในหลักปฏิบัติแบบ 56-1 One Report ซึ่งสามารถถูกใช้เป็นรายการตรวจสอบที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและการลงทุน (SET, 2022) อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการและหัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าตลาดหลักทรัพย์พัฒนากรอบ SET-ESG โดยมุ่งเน้นการบรรลุ 4 เป้าหมายตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) คือ 1) อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (SDG-9) 2) การผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (SDG-12) 3) ลดความเหลื่อมล้ำ (SDG-10) 4) แนวทางปฏิบัติต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG-13) (Kiewkarnka, A., 2022) ขณะที่รัตน์วลี อนันตานานนท์ (Anantananon, R., 2022) ผู้ช่วยผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสริมว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังพัฒนา 2 แพลทฟอร์มคือ 1) SET ESG Data Platform สำหรับสื่อสารเกี่ยวกับข้อบังคับในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG และ 2) SET ESG Academy เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับ ESG ของบริษัทและมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับตลาดหลักทรัพย์อย่างสถาบันการเงินในประเทศไทยก็ได้ประดาศเจตนารมณ์เกี่ยวกับ ESG ในปี 2565 เช่นกันเพื่อกำหนดทิศทางเกี่ยวกับการระบุวาระ ESG ให้ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมการเงิน สมาคมธนาคารไทย (TBA) ได้วางแผนสำหรับการดำเนินการที่สำคัญในการระบุความเสี่ยงและโอกาสภายใต้กรอบ ESG โดยเน้นที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG-13) ความหลากหลายและสิทธิมนุษยชน (SDG-5) การบูรณาการด้านการเงิน (SDG-8) และลดความเหลื่อมล้ำ (SDG-5) พร้อมให้การสนับสนุนประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สมาชิกทั้งหมดของสมาคมธนาคารไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ต่อการดำเนินการสำคัญ 6 รูปแบบคือ 1) การกำกับดูแลกิจการ 2) กลยุทธ์ 3) การบริหารความเสี่ยง ESG 4) ผลิตภัณ์ทางการเงิน 5) การสื่อสาร 6) การเปิดเผยข้อมูล (BOT & TBA, 2022) รศ.ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีด้านความยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าภาคธุรกิจในประเทศไทยยังอยู่ในขั้นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจำเป็นของการผสมผสานปัจจัยด้าน ESG ต่างๆ เข้ากับการดำเนินกิจการ อุปสรรคใหญ่ในการนำ ESG เข้ามาใช้ในองค์กรคือการขาดความเข้าใจที่สอดคล้องตรงกันเกี่ยวกับการรายงานและการประเมิน ESG ขาดกำลังคนและเทคโนโลยีที่เพียงพอในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และขาดความโปร่งใสในระบบการจัดการ (Pimpa, N., 2023) เห็นได้ชัดว่าในภาพรวมของการรายงาน ESG ยังมีความสับสนและความไม่สมบูรณ์อยู่มากในแง่ของความรู้เกี่ยวกับการใช้กรอบและมาตรฐานการรายงานทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่จับต้องได้ในปัจจุบันได้เผยให้เห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดจากภาคทุนทั่วโลกในการบรรลุความยั่งยืน ดังนั้นองค์กรต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนควรเริ่มปรับแนวคิดในการดำเนินกิจการและเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกี่ยวกับ ESG จากหลากภาคส่วนเพื่อนำมาสร้างกลยุทธ์ แผนการดำเนินการ รวมถึงความชัดเจนและสอดคล้องของกรอบการรายงานที่เหมาะสมสำหรับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรนั้นๆ ซึ่งแต่ละองค์กรจากภูมิหลังและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันก็มีความต้องการทรัพยากรที่จำเป็นและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และในบางองค์กรก็ต้องใช้ระยะเวลาและต้นทุนมากกว่าในการบรรลุเป้าหมาย (Pimpa, N., 2023) แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำจาก 6 ประเทศอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ในแง่ของการดำเนินการด้าน ESG การจัดอันดับศักยภาพในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในปี 2562 โดย Corporate Knights ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยได้เผยให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อันดับที่ 9 จาก 47 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกซึ่งเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามมาด้วยตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์อันดับที่ 24 ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์อันดับที่ 30 และตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียอันดับที่ 36 ส่วนประเทศที่มีค่าการละเลยความเสี่ยง ESG สูงได้แก่เวียดนามและอินโดนีเซียสืบเนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง ESG สูงแต่ไม่สามารถจัดการได้เช่นอุตสาหกรรมเหมือง น้ำมันและก๊าซหรือเหล็กเป็นต้น (Pan, F., 2021) and (Walker, R., 2021).

Source from: Sustainalytics https://www.sustainalytics.com/esg-research/resource/investors-esg-blog/esg-disclosure-and-performance-in-southeast-asia  

International References:

  1. Byrne, Dan (2023) What’s the difference between ESG reporting standards and frameworks. [online] London: Corporate Governance Institute (CGI). Available from: https://www.thecorporategovernanceinstitute.com/insights/guides/whats-the-difference-between-esg-reporting-standards-and-frameworks/ [Access 12 May 2023].
  2. Courtnell, Jane (2022) ESG Reporting Frameworks, Standards, and Requirements. [online] Texas: Green Business Bureau. Available from: https://greenbusinessbureau.com/esg/esg-reporting-esg-frameworks/ [Access 9 May 2023].
  3. Emerick, Dean (No clue) What is ESG Reporting? [online] Ontario: ESG/ The Report. Available from: https://www.esgthereport.com/what-is-esg-reporting/ [Access 12 May 2023].
  4. Letta Anamim Tesfaye (2022) What is the difference between ESG framworks and standards? [online] Paris: esg.tech. Available from: https://esg.tech/how-to/esg-frameworks-and-standards/ [Access 12 May 2023].
  5. Miller, Noah (2022) ESG Score. [online] Vancouver: Corporate Finance Institute (CFI). Available from: https://corporatefinanceinstitute.com/resources/esg/esg-score/ [Access 12 May 2023].
  6. Pan, Frank (2021) ESG Disclosure and Performance in Southeast Asia. [online] London: Sustainalytics. Available from: https://www.sustainalytics.com/esg-research/resource/investors-esg-blog/esg-disclosure-and-performance-in-southeast-asia [Access 13 May 2023].
  7. Peterdy, Kyle (2022) Greenwashing. [online] Vancouver: Corporate Finance Institute (CFI). Available from: https://corporatefinanceinstitute.com/resources/esg/greenwashing/ [Access 12 May 2023].
  8. Peterdy, Kyle (2023) ESG Disclosure. [online] Vancouver: Corporate Finance Institute (CFI). Available from: https://corporatefinanceinstitute.com/resources/esg/esg-disclosure/ [Access 12 May 2023].
  9. Walker, Rupert (2021) Thailand leads ESG disclosure in Southeast Asia. [online] London: MA Financial Media. Available from: https://fundselectorasia.com/thailand-leads-esg-disclosure-in-southeast-asia/ [Access 13 May 2023].

Thai References:

  1. Anantananon, Ratwalee (2022) Set launches platforms to promote ESG Practices. [online] Bangkok: Bangkok Post. Available from: https://www.bangkokpost.com/business/2303434/set-launches-platforms-to-promote-esg-practices [Access 13 May 2023].
  2. Bank of Thailand (BOT) and The Thai Bankers’ Association (TBA) (2022) Joint Press Release: TBA launches ESG Declaration, a strong collective commitment to expediting sustainable development toward better and greener economy. [online] Bank of Thailand (BOT). Available from: https://www.bot.or.th/landscape/en/news/2022/08/29/esg-declaration/ [Access 13 May 2023].
  3. Kiewkarnka, Apisak (2022) Set launches platforms to promote ESG Practices. [online] Bangkok: Bangkok Post. Available from: https://www.bangkokpost.com/business/2303434/set-launches-platforms-to-promote-esg-practices [Access 13 May 2023].
  4. Pimpa, Nattavud (2023) ESG: Poison or Panacea for Thai Business? [online] Bangkok: The Nation (Thailand). Available from: https://www.nationthailand.com/blogs/special-edition/esg/40026137 [Access 13 May 2023].
  5. SET (2022) ESG The Stock Exchange of Thailand (SET) introduces Sustainability Reporting Guide. [online] Bangkok: Thailand Business News. Available from: https://www.thailand-business-news.com/set/89984-the-stock-exchange-of-thailand-set-introduces-sustainability-reporting-guide [Access 13 May 2023].